Seeckt, Hans von (1866-1936)

พลเอก ฮันส์ ฟอน เซคท์ (พ.ศ. ๒๔๐๙-๒๔๗๙)

 พลเอก ฮันส์ ฟอน เซคท์ เป็นนายทหารฝ่ายเสนาธิการที่มีชื่อเสียงของเยอรมนีในแนวรบด้านตะวันออกของสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๐-๑๙๒๖ เขาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการสำนักงานกองทัพบกและหัวหน้าคณะนายทหารฝ่ายเสนาธิการกองทัพบก เซคท์ต้องการสร้างกองทัพบกเยอรมันขึ้นใหม่ภายใต้การถูกจำกัดบทบาทและขนาดกองทัพจากเงื่อนไขอันเข้มงวดของสนธิสัญญาแวร์ซาย (Treaty of Versailles)* เขาสนับสนุนนโยบายของวัลเทอร์ ราเทเนา (Walter Rathenau)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในการร่วมมือทางการค้ากับสหภาพโซเวียต ซึ่งนำไปสู่การลงนามในสนธิสัญญาราปัลโล (Treaty of Rapallo)* ค.ศ. ๑๙๒๐ เซคท์ร่วมมือกับสหภาพโซเวียตอย่างลับ ๆ ในการจัดสร้างรถถังและฝึกทหารเยอรมัน ยุทธศาสตร์ทางทหารของเขาทำให้กองทัพบกที่เขาวางรากฐานไว้พัฒนาเป็นกองกำลังที่เข้มแข็งจนทำให้ในเวลาต่อมาเยอรมนีสามารถทำสงครามสายฟ้าแลบ (Blitzkrieg)* ได้สำเร็จในสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)*

 เซคท์เกิดในครอบครัวทหารที่แคว้นชเลสวิก (Schleswig) เมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ค.ศ. ๑๘๖๖ บิดาเป็นนายพลซึ่งมีส่วนให้เขาต้องการเป็นทหารอาชีพเช่นบิดา ใน ค.ศ. ๑๘๘๕ เขารับราชการในตำแหน่งนายทหารองครักษ์ก่อนที่จะได้รับแต่งตั้งให้เข้าร่วมในฝ่ายเสนาธิการใน ค.ศ. ๑๘๙๙ ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ เขาเข้าร่วมรบในแนวรบด้านตะวันออกโดยสังกัดฝ่ายเสนาริการกองทัพที่ ๑๑ และใน ค.ศ. ๑๙๑๖ ได้รับตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาของกองทัพบกออสเตรีย ในปีต่อมาก็เป็นที่ปรึกษากองทัพบกตุรกี เมื่อสงครามโลกยุติลง เซคท์ซึ่งติดยศพลเอกและไม่มีชื่อเสียงด่างพร้อยจากสงครามที่พ่ายแพ้ยังคงได้รับการยอมรับนับถือจากนายทหารในกองทัพ แม้เซคท์จะไม่ชอบระบอบประชาธิปไตยและสาธารณรัฐไวมาร์ (Weimar Republic)* แต่เขาก็ตระหนักว่าการรื้อฟื้นระบอบกษัตริย์ ในเวลานั้นเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ หน้าที่ของเขาในฐานะหัวหน้าคณะเสนาริการกองทัพบกคือการสร้างกองทัพบกให้เป็นหน่วยงานที่มีประสิทธิภาพและยึดมั่นในชาติและไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองระบบพรรค เป้าหมายสำคัญของเขาคือการเอาชนะเงื่อนไขอันเข้มงวดของฝ่ายสัมพันธมิตรที่มุ่งตัดกำลังทางทหารของเยอรมนีอย่างรุนแรง การจำกัดกำลังกองทัพบกให้เหลือเพียง ๑๐๐,๐๐๐ นาย ซึ่งสำหรับประเทศที่มีพลเมืองถึง ๗๐ ล้านคนแล้วนับว่าเป็นกำลังทหารที่น้อยมากและไม่เพียงพอต่อการรักษาพรมแดนของเยอรมนีในเวลานั้น ส่วนจำนวนทหารเรือก็ให้เหลือเพียง ๑๕,๐๐๐ นาย และให้มีเรือเล็กไม่กี่ลำทั้งห้ามการมีกำลังกองทัพอากาศ

 เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจตราอย่างเข้มงวดของคณะกรรมาธิการเพื่อการควบคุมทางการทหารของฝ่ายสัมพันธมิตร (Inter-Allied Military Control Commission) และจากรัฐบาลไวมาร์ที่ใฝ่สันติ เซคท์จึงวางแผนการสร้างผู้นำกองทัพขึ้น เพราะฝ่ายสัมพันธมิตรเชื่อว่าแม้เยอรมนีจะสามารถสร้างกองทัพขึ้นได้ใหม่ แต่จะขาดผู้นำทางการทหารที่ผ่านการฝึกฝนและมีประสบการณ์ในการควบคุมกองทัพ ดังนั้นจึงมีการจำกัดจำนวนของนายทหารและนายพลประจำการให้เหลือน้อยมาก เซคท์แก้ปัญหาด้วยการตั้งหน่วยงานทางพลเรือนขึ้นที่เรียกว่า “หน่วยบูรณะ วิจัย และวัฒนธรรม (Department of Reconstruction, Research and Culture) ซึ่งโดยแท้จริงแล้วเป็นเสมือนมันสมองทางการทหาร มีวัตถุประสงค์เพื่อฝึกอบรมนายทหารระดับสูงสำหรับกองทัพเยอรมันขนาดใหญ่ในอนาคต ขณะเดียวกันเซคท์ก็จัดตั้งระบบที่ก้าวหน้าเพื่อฝึกทหารประจำการจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ นาย ให้เป็นนายทหาร โดยจัดพิมพ์คู่มือการฝึกทหารออกเผยแพร่ประหนึ่งว่าเป็นการฝึกพลทหาร ในการซ้อมรบแต่ละครั้ง ทหารแต่ละหน่วยจะได้รับเครื่องหมายของหน่วยกองทัพบกในสมัยจักรวรรดิโดยให้สมมุติตัวเองว่าเป็นนายทหารที่บังคับบัญชาหน่วยรบซึ่งการฝึกดังกล่าวยังช่วยในการรักษาความภาคภูมิใจในประเพณีของกองทัพให้คงอยู่ในระบอบสาธารณรัฐ

 เซคท์ยังวางพื้นฐานในการรื้อฟื้นกองทัพเรือและกองทัพอากาศเยอรมัน เขากระจายนายพล นายทหารฝ่ายเสนาริการ และนายทหารเรือไปตามกระทรวงพลเรือนต่าง ๆ พลปืนประจำกองทัพเรือฝึกการยิงปืนด้วยปืนใหญ่ของกองทัพบก มีการจัดทำรายละเอียดของโครงการสร้างเรือดำนํ้า ส่วนลูกเรือก็ได้รับการฝึกในประเทศอื่นโดยเฉพาะในสหภาพโซเวียต ในด้านกำลังทางอากาศนั้นเซคท์รวบรวมนายทหารอากาศที่มีประสบการณ์เพื่อเป็นกำลังในอนาคตโดยให้แฝงตัวอยู่ในกระทรวงพลเรือนหรือในกองทัพบก นอกจากนี้ ภายใต้ขัออ้างว่ามีการขยายการบินพลเรือน จึงต้องสร้างสนามบินขนาดใหญ่โดยมีโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการบิน อีกทั้งเครื่องบินพลเรือนก็ออกแบบให้สามารถเปลี่ยนไปเป็นแบบที่ใช้ในการทหารได้ยิ่งกว่านั้นมีการสนับสนุนการจัดตั้ง “สโมสรเครื่องร่อน” ทั่วประเทศเพื่อให้ชาวเยอรมันรุ่นเยาว์เป็นผู้รักการบิน

 อย่างไรก็ตาม งานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเซคท์คือการสร้างทฤษฎีทางการทหารในการปฏิบัติการร่วมกันของกองกำลัง ๓ เหล่าทัพซึ่งจะกลายเป็นหลักการของการทำสงครามสายฟ้าแลบของเยอรมนีในเวลาต่อมา เซคท์เชื่อว่าความพ่ายแพ้ของเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่ ๑ เป็นความล้มเหลวด้านยุทธวิธี ดังนั้น จะต้องยกเลิกทฤษฎีเก่าทางการทหาร เขาตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อศึกษายุทธวิธีที่เหมาะสมซึ่งนำไปสู่การจัดกำลังขนาดเล็กที่มีอิสระ เคลื่อนที่เร็ว เน้นการใช้เครื่องยนต์ หน่วยปืนใหญ่แต่ละหน่วยทำการรบอย่างใกล้ชิดและพร้อมเพรียง ทั้งประสานการสนับสนุนจากกำลัง ทางอากาศและทางทะเล ยุทธวิธีดังกล่าวเป็นรูปแบบการรบสงครามสายฟ้าแลบซึ่งในสงครามที่จะเกิดขึ้น เซคท์คาดหวังให้สหภาพโซเจียตร่วมมือกับเยอรมนีในการทำสงครามโดยเฉพาะการทำลายโปแลนด์

 ในด้านการเมืองนั้น เซคท์ยึดหลักการว่ากองทัพ ต้องมีอิสระในตัวเอง ปลอดจากการถูกควบคุมจากพรรคการเมืองทั้งมีเหตุผลในการดำรงอยู่คือเพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของชาติ ดังนั้น ในช่วงที่เกิดกบฏคัพพ์ (Kapp Putsch)* ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๒๐ เซคท์ปฏิเสธคำสั่งของประธานาธิบดีฟรีดริช เอแบร์ท (Friedrich Ebert)* ที่จะปราบปรามฝ่ายกบฏด้วยข้ออ้างว่าทหารจะไม่เข่นฆ่ากันเอง เขาจึงวางตัวเป็นกลางซึ่งแสดงว่ากองทัพจะป้องกันระบอบสาธารณรัฐจากการโจมตีของฝ่ายซ้ายเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ใน ค.ศ. ๑๙๒๓ เซคท์ก็ตกเป็นเป้าหมายของความเกลียดชังจากพวกนาซี เพราะนอกจากมีภรรยาเป็นชาวยิวแล้ว เขายังมีลักษณะสากลมากกว่าชาตินิยม เขาสั่งการให้นายพลออทโท ฟอน ลอสโซว์ (Otto von Lossow) ปราบปรามการก่อการของพวกนาซีในกบฏโรงเบียร์ (Beer Hall Putsch)* ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๒๓ เพราะเห็นว่า พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี (National Socialist German Workers’ Party; Nazi Party)* เป็นขบวนการปฏิวัติซึ่งมีเป้าหมายแตกต่างจากแนวทางอนุรักษนิยมที่เคยมีมา อีกทั้งเซคท์ไม่ประทับใจในอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ผู้นำพรรคนาซีซึ่งเขาเคยพบในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๒๓ อย่างไรก็ตาม ทัศนคติของเซคท์ที่โน้มเอียงไปทางปีกขวาและความคิดเห็นที่คลุมเครือต่อระบอบสาธารณรัฐของเขากอปรกับการเน้นความเป็นอิสระของกองทัพ ทำให้ดูเหมือนเขาไม่สนใจต่อความมั่นคงของสาธารณรัฐไวมาร์ เมื่อประธานาธิบดีฟรีดริช เอแบร์ทถามเขาว่ากองทัพจะยอมทำตามคำสั่งของประธานาธิบดีหรือของพวกก่อการกบฏโรงเบียร์ เซคท์ตอบว่ากองทัพจะเชื่อฟังเขา ซึ่งสะท้อนถึงบทบาทของกองทัพบกเยอรมันในสมัยสาธารณรัฐไวมาร์

 ในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๒๖ เซคท์กระทำการโดยพลการโดยไม่ขอความเห็นชอบจากรัฐบาลด้วยการเชิญพระนัดดาของอดีตไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ (William II)* ให้มาร่วมซ้อมรบทางการทหารและให้พระองค์ทรงสวมเครื่องแบบทหารของอดีตจักรวรรดิเยอรมัน (German Empire)* ซึ่งทำให้รัฐบาลไม่พอใจอย่างมาก นอกจากนี้ การที่หนังสือพิมพ์ Manchester Guardian ของอังกฤษได้เสนอบทความเกี่ยวกับการร่วมมืออย่างลับ ๆ ของกองทัพบกเยอรมันกับกองทัพแดง (Red Army)* ของสหภาพโซเวียตก็ทำให้พรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันหรือเอสพีดี (German Social Democratic Party-SPD)* ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายด้านในเวลานั้นโจมตีรัฐบาลว่ามีส่วนพัวพันในเรื่องนี้ เหตุการณ์ทั้ง ๒ เรื่องดังกล่าวทำให้รัฐบาลใช้เป็นข้ออ้างบีบบังคับเซคท์ให้ลาออกจากตำแหน่งในที่สุด

 ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๐-๑๙๓๒ เซคท์เป็นสมาชิกสภาไรค์ชตาก (Reichstag) สังกัดพรรคแรงงานเยอรมัน (German Workers’ Party) ต่อมา ใน ค.ศ. ๑๙๓๔ เมื่อฮิตเลอร์เริ่มกวาดล้างสมาชิกพรรคนาซีที่แข็งข้อรวมทั้งศัตรูทางการเมือง โดยเฉพาะในเหตุการณ์คืนแห่งมีดยาว (Night of the Long Knives)* หรือการกวาดล้างเริม (Röhm Purge) เซคท์ซึ่งต้องการหลีกเลี่ยงการถูกลอบสังหาร เช่นคนอื่น ๆ จึงตัดสินใจรับตำแหน่งที่ปรึกษาทางการทหารของประธานาธิบดีเจียง ไคเชก (Chiang Kaishek) แห่งสาธารณรัฐจีนในช่วง ค.ศ. ๑๙๓๔-๑๙๓๕ หลังกลับจากปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวได้ไม่นาน พลเอก ฮันส์ ฟอน เซคท์ ก็ถึงแก่อนิจกรรมที่กรุงเบอร์ลิน เมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๓๖ รวมอายุ ๗๐ ปี.



คำตั้ง
Seeckt, Hans von
คำเทียบ
พลเอก ฮันส์ ฟอน เซคท์
คำสำคัญ
- กบฏคัพพ์
- กบฏโรงเบียร์
- กองทัพแดง
- การกวาดล้างเริม
- คณะกรรมาธิการเพื่อการควบคุมทางการทหารของฝ่ายสัมพันธมิตร
- คืนแห่งมีดยาว
- เซคท์, ฮันส์ ฟอน
- พรรคนาซี
- พรรคแรงงาน
- พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติ
- พรรคสังคมประชาธิปไตย
- ราเทเนา, วัลเทอร์
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สงครามสายฟ้าแลบ
- สนธิสัญญาราปัลโล
- สนธิสัญญาแวร์ซาย
- สภาไรค์ชตาก
- เอแบร์ท, ฟรีดริช
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1866-1936
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๐๙-๒๔๗๙
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สมใจ ไพโรจน์ธีระรัชต์
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-